5กลยุทธ์ขั้นเทพKFCผู้นำธุรกิจฟาสต์ฟู้ดโลก

5 กลยุทธ์ขั้นเทพ KFC ผู้นำธุรกิจฟาสต์ฟู้ดโลก
หากพูดถึงแวดวงอาหารจานด่วน หรือ Fast Food เชื่อว่าหลายๆคนคงมีชื่อผุดมาในใจและเป็นลูกค้าประจำกันอยู่หลายที่
เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจประเภทนี้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง สามารถหาทานได้ง่าย สะดวก และมีให้เลือกหลากหลาย
ขยับให้แคบลงกว่านั้น ถ้าพูดถึงเมนูประเภท “ไก่ทอด” คงไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก “KFC” ด้วยรสชาติอาหารที่ถูกปากเป็นเอกลักษณ์และได้มาตรฐาน ที่มาพร้อมๆกับภาพของคุณลุงท่าทางใจดีผมขาวสูทขาว ทำให้ KFC เป็นที่นิยมกับคนทั่วโลกมาเป็นเวลายาวนานเกินกว่าครึ่งศตวรรษ อย่างในประเทศไทยเองก็เปิดให้บริการเป็นเวลา 30 กว่าปีมาแล้ว
อะไรที่ทำให้ KFC ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน กลยุทธ์ในการทำธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน และทิศทางในอนาคต เพื่อการดำรงอยู่ในตำแหน่งผู้นำธุรกิจอาหารจานด่วนของโลก
ถ้าจะพูดถึงประวัติความเป็นมาของ KFC นั้น สิ่งที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงนอกจากสินค้าอันเป็นเอกลักษณ์อย่างไก่ทอดแล้ว
ก็คือ ผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้ขึ้นมา ที่เรารู้จักกันดีในนาม “ผู้พันแซนเดอร์ส” ชายสูงวัยในสูทสีขาวท่าทางอบอุ่นใจดี ผู้ทำไก่ทอดขาย
จนดังไปทั่วโลก แต่หากใครศึกษาประวัติละเอียดอีกนิด คงจะทราบดีว่า กว่าผู้พันของเราจะประสบความสำเร็จนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ก่อนหน้านี้เคยประกอบอาชีพมาหลายอย่างและ เรียกได้ว่าประสบความล้มเหลวแทบจะทุกอย่าง แม้กระทั่งการก่ออาชญากรรม
หรือฆ่าตัวตาย พระเจ้าก็สั่งให้เขาทำไม่สำเร็จ เหมือนจะถูกกำหนดมาแล้วว่าให้แกอยู่ทำไก่ทอดให้มนุษยชาติกินก่อนก็เป็นได้
เรามาไล่เรียงกลยุทธ์ที่ KFC ใช้ดำเนินธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงเป้าหมายในอนาคตกันครับว่ามีอะไรบ้าง
คุณภาพของสินค้า
แม้ว่าผู้พันแซนเดอร์สจะประสบความล้มเหลวในการประกอบอาชีพมาตลอดชีวิต แต่เขารู้ตัวเองอย่างหนึ่งว่า มีสิ่งที่เขาถนัดและทำได้ดีที่สุดอยู่ นั่นคือ การทำอาหาร เขาได้ตัดสินใจประกอบธุรกิจร้านอาหาร และพัฒนาสูตรไก่ทอดของตัวเองอย่างจริงจัง
ถึงแม้ว่าขณะนั้นจะมีอายุมากแล้วก็ตาม เรียกได้ว่า ไม่สายไปหากจะทำธุรกิจที่เรามีความเชี่ยวชาญจริง
ทั้งนี้รสชาติของไก่ทอดของ KFC ก็มีการปรับให้ถูกปากกับผู้บริโภคในแต่ละเมือง แต่ละประเทศด้วย แต่ก็ยังคงมาตรฐานรสชาติ
ในแบบ KFC เอาไว้ ถ้าใครเคยไปลิ้มลองที่ต่างประเทศก็จะทราบข้อนี้ดี นับเป็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่แสดงถึงความใส่ใจ
ผู้บริโภค โดยใช้คุณภาพของสินค้าเป็นตัวนำ
สร้างเอกลักษณ์
เริ่มที่รายการอาหาร แม้ว่าเมนูในร้านจะมีค่อนข้างหลากหลาย แต่ KFC ก็เลือกที่จะใช้ไก่ทอดเป็นเอกลักษณ์มาโดยตลอด
คิดค้นสูตรลับที่ทำให้ไม่มีใครเลียนแบบได้ รั้งตำแหน่งผู้นำตลาดได้อย่างเหนียวแน่น และสิ่งสำคัญอีกอย่างจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก “พันเอก ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส” ที่เราทุกคนร้องอ๋อและสามารถนึกภาพตามได้ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม เรียกได้ว่า ติดอันดับมนุษย์ที่มีคนรู้จักเป็นอันดับต้นๆของโลก แน่นอนครับ นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นการตลาดอันแยบยล สังเกตกันหรือไม่ว่า
โลโก้ของ KFC ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ปรากฏหน้าของผู้พันควบคู่ไปกับตัวหนังสือทุกแบบ ทุกเวอร์ชั่น วางหุ่นรูปตัวเอง
ไว้หน้าร้านทุกสาขา ทำกันขนาดนี้ จำไม่ได้ให้มันรู้ไป จนมีคำกล่าวจาก Jack Massey นักลงทุนว่าผู้พันเป็น
” The greatest PR man I have ever known “ นั่นเป็นเพราะว่าเขาเริ่มไว้เคราหลังจากนั้นย้อมหนวดเคราให้เป็นสีขาว
สวมสูทขาว ผูกเนคไทสีดำแบบเส้น ซึ่งในเวลาต่อมาเขาไม่เคยปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณะชนในลุคอื่นอีกเลย
สโลแกน
นอกจากโลโก้ที่เป็นที่จดจำแล้ว สโลแกนของ KFC ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนมาหลายครั้งแต่ก็คุ้นหูเกือบทุกอันเลยครับ โดยในช่วงแรกจะใช้อยู่ 2 อัน คือ “North America’s Hospitality Dish” และ
“We fix Sunday dinner seven nights a week” จนกระทั่งภายหลังปรับให้กระชับขึ้นเป็น “Finger licking good”
ที่เราคุ้นเคยมาตลอดในศตวรรษที่ 20 จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2006 สโลแกนเปลี่ยนอีกครั้งเป็น “Follow your taste”
และล่าสุดในปี 2011 กับสโลแกนที่สั้นลงกว่าเดิม “So good” ตามนโยบายของบริษัทที่อยากจะสื่อสารกับผู้บริโภคให้มากกว่า
การขายอาหารรสชาติดีแต่รวมไปถึงการบริการที่อบอุ่นด้วย
ในตอนแรกที่ผู้พันแซนเดอร์สขายไก่ทอดในร้านของตัวเองก็พบเจอกับปัญหาหนึ่งที่นำมาซึ่งการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ในการทำธุรกิจ นั่นคือการที่ร้านของเขาประสบปัญหากับการก่อสร้างถนน ทำให้ลูกค้าจำนวนมากไม่สะดวกที่จะมาอุดหนุนที่ร้านได้
เหมือนเดิม การขยายสาขาไปที่อื่นเป็นตัวเลือกที่ดี
Pete Harman ลูกค้าคนหนึ่งสนใจที่จะเปิดร้านไก่ทอดของผู้พันที่บ้านของตนในยูทาห์และที่นั่นก็กลายเป็น KFC สาขาแรก
ของโลก ต่อมาผู้พันก็ได้เดินทางไปที่ร้านของพีทและได้ทำการปรุงไก่ในแบบฉบับของตนจนร้านสาขายูทาห์นั้นมีรายได้มหาศาล
เพียงปีแรกที่เปิด ผู้พันกลับมาทบทวนเรื่องการขายแฟรนไชส์อย่าจริงจัง โดยขายให้สองนักลงทุน Jack Massey และ
John Y. Brown Jr.
ในประเทศไทย KFC อยู่ภายใต้การดูแลของ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด โดยเปิดให้บริการในประเทศมากว่า 30 กว่าปี ปัจจุบัน KFC ในไทยมีทั้งหมด 586 สาขา แบ่งเป็นของ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) 244 สาขา สัดส่วน 42% เป็นของ CRG (เซนทรัล เรสเทอรองตส์ กรุ๊ป) 219 สาขา สัดส่วน 37% และเป็นของ RD (บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลลอปเม้นต์ จำกัด) 123 สาขา สัดส่วน 21% (ซึ่งจะครบ 130 สาขาในกันยายนปีนี้) โดยล่าสุดทางยัมประกาศนโยบายขายแฟรนไชส์ที่เหลือของตนทั้ง 244 สาขา โดยให้เหตุผลตามนโยบายของบริษัทแม่ที่จะใช้กลยุทธ์ให้แฟรนไชส์เป็นผู้ดำเนินการแทน การทำงานจากนี้ไปมี Brand Advisory Council ซึ่งประกอบไปด้วย แววคนีย์ อัสโสรัตน์ จีเอ็มของ ซีอาร์จี จีเอ็มของอาร์ดี และผู้บริหารจากยัมฯ ที่ดูแลเคเอฟซี 244 สาขา เพื่อเป็นคณะทำงานการวางนโยบาย ทั้งขยายสาขา การตลาด การพัฒนาต่างๆ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแฟรนไชส์จะเป็นผู้ลงทุนสาขา ส่วนงบการตลาดนั้นจะมาจากการหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายของแต่ละรายเพื่อเข้ากองกลาง โดยมีทีมการตลาดของยัมฯ เป็นผู้ดูแลบริหาร
สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง
ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมาสำหรับการดำเนินธุรกิจของ KFC ในประเทศไทย แม้จะประสบความสำเร็จอย่างมากทางการตลาด โดยการตอกย้ำสินค้าไก่ทอดของตนเอง แต่KFC ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ล่าสุดในปี 2016 ได้เพิ่มกลยุทธ์ทางการตลาดในประเทศไทยด้วยการทำ Branding ด้วยแนวคิด ที่เห็นว่า แบรนด์ เป็นเรื่องของความรู้สึก เมื่อนึกถึงต้องบอกได้ว่าแบรนด์นี้มีความรู้สึกอย่างไร หรือทำให้ผู้บริโภครู้สึกอย่างไร KFC จึงเริ่มต้นด้วยแนวคิด KFC Always Original เป็นตัวจริง เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
สื่อสารโดยใช้รูปแบบงานศิลปะ “มิวสิคแอนด์ป๊อปอาร์ต” (Music and Pop Art)
ปัจจุบัน KFC มีแผนขยายเป็น 800 สาขาในปี 2563 และมีการขยายสาขาแบบ Drive Through และออนไลน์มากขึ้นเพื่อ
ให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่สมัยทศวรรษที่ 50 มาวันนี้ KFC ได้ขยายตลาดกิจการอาหารจานด่วนไปทั่วโลก แม้จะมีความต่างของวัฒนธรรมมากมายทั้ง การกิน การใช้ชีวิตในแต่ละพื้นที่ แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นปัญหาสำหรับ KFC ทั้งนี้ทั้งนั้นเกิดจากการไม่หยุดที่จะปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นมาโดยตลอด มีการวางแผน และกลยุทธ์ที่รองรับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!