“อภิมหากาพย์คัมภีร์ : วิธีเริ่มต้นทำธุรกิจ”

อภิมหากาพย์_171207_0001

สมัยนี้ใครๆก็อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ไมว่าจะสร้างให้เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ หรือจะลงทุนลงแรงจริงจังจนเป็นอาชีพหลัก เพราะตอนนี้อะไรๆก็ดูง่ายกว่าแต่ก่อนมาก โลกเราทุกวันนี้มันคือโลกไร้พรมแดนไปแล้ว จะติดต่อซื้อขายกับใครก็ไม่ยาก บางทีนั่งอยู่กับบ้านก็ยังสามารถหาเงินเข้ากระเป๋าสตางค์ได้ด้วยซ้ำ

และคำถามที่ผู้คนมากมายมักจะถามและหาคำตอบอยู่เสมอก็คือ “เราจะเริ่มต้นทำธุรกิจได้อย่างไร?”  แน่นอนว่าการประกอบธุรกิจย่อมมีปัจจัยหลายขั้นตอนในการก่อร่างสร้างมันขึ้นมา แต่สิ่งที่สำคัญกว่าและเชื่อว่าทุกคนอยากที่จะรู้เป็นอย่างยิ่งก็คือ
“ทำอย่างไร ธุรกิจถึงจะไปได้ดี”

ในความเป็นจริงเราคงไม่สามารถพูดได้เต็มปาก 100% หรอกว่าธุรกิจนั้นจะไปได้ดีหรือไม่ หากเรายังไม่ได้ลงมือทำ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการทำธุรกิจนั้นไม่ได้มีหลักประกันความสำเร็จอะไรได้เลย จริงอยู่ว่าถ้าอยากจะรู้ว่าขายได้มั้ย ก็ต้องลองขายจริงๆ แต่ก่อนหน้านั้น ก่อนที่คุณจะลงสนาม คุณสามารถเตรียมความพร้อมได้ไม่ใช่หรือครับ ยิ่งมีการคิดวางแผนเตรียมตัวให้ดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นใจได้มากขึ้น ว่าธุรกิจจะต้องไปได้สวย เพราะฉะนั้นขั้นตอนที่สำคัญในการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง มันอยู่ที่การเริ่มต้นนี่เองครับ อย่างที่มีคำกล่าวว่า “เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”

บทความนี้จะรวบรวมหลักการและวิธีการที่มีประโยชน์จากทั่วทุกสารทิศ ที่จะทำให้คุณสามารถเริ่มต้นธุรกิจของคุณได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักการจัดลำดับขั้นตอนความสำคัญไปทีละ step  ทำให้คุณได้รู้ทุกอย่างที่ควรจะรู้ เรียกได้ว่าเป็นดั่งคัมภีร์เล่มสำคัญที่คนทำธุรกิจทุกคนจะต้องอ่าน และอย่าลืมว่าไม่มีธุรกิจใดในโลกที่เหมือนกันไปซะหมด จงรู้จักปรับแต่ง สร้างความยืดหยุ่นและการประยุกต์ใช้ให้เข้ากับตัวเอง ทั้งหมดนี้จึงจะเกิดประโยชน์ต่อคุณและธุรกิจของคุณอย่างได้อย่างดีที่สุด

STEP 1  สำรวจตัวเอง

สิ่งแรกที่ควรทำก่อนการเริ่มต้นธุรกิจก็คือ การทำความรู้จักตัวเองให้ดีที่สุด ลองสำรวจตัวของคุณเองดูว่าคุณเป็นอย่างไร คุณมีอะไร และอะไรคือสิ่งที่คุณต้องการบ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณไปต่อและสามารถใช้เป็นจุดเริ่มในการมองหาไอเดียในการสร้างธุรกิจได้

ลองใช้คำถามเหล่านี้กับตัวเอง

  • ทำไมคุณถึงอยากที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง? ปัจจัยเหล่านั้นคืออะไร เงิน? อิสรภาพ? ชีวิตที่ยืดหยุ่น?
    เพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่าง? หรือเพราะอะไรกันแน่?
  • ตอนนี้คุณมีทักษะความสามารถอะไรบ้าง?
  • คุณรู้จักธุรกิจประเภทใดบ้าง?
  • คุณอยากที่จะนำเสนอในรูปแบบของสินค้าหรือบริการ?
  • คุณชอบทำอะไรบ้าง?
  • คุณมีต้นทุนเพื่อความเสี่ยงครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน?
  • คุณจะทำมันเป็นงานเสริมหรือว่างานหลัก?

นี่เป็นตัวอย่างของคำถามที่จะทำให้คุณรู้จักตัวเองและความต้องการที่คุณมีมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การโฟกัสที่แคบลงในการเริ่มต้นทำธุรกิจ และมันไม่ได้เป็นการห้ามปรามหรือดับฝันคุณแต่อย่างใด เพราะการทำธุรกิจต้องคิดให้รอบคอบในหลายๆด้าน
แค่มีใจอยากจะทำอย่างเดียวนั้นยังไม่พอหรอกครับ

คุณต้องมีแผน มี Goal และมีจุดมุ่งหมายที่แน่ชัด รู้จักตัวเองให้มาก อะไรคือสิ่งที่คุณทำได้ดีที่สุดและอะไรคือสิ่งที่คุณไม่ได้เรื่อง หรือลองใช้โมเดลวิเคราะห์ตัวเองอย่าง SWOT Analysis เพื่อหาคำตอบนี้

อภิมหากาพย์_171207_0004

อะไรคือ SWOT Analysis ?

SWOT Analysis  คือเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินสถานการณ์สำหรับคนหรือองค์กร ที่จะช่วยกำหนดหรือรู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนทั้งจากภายในและภายนอก ซึ่งคิดค้นโดย อัลเบิร์ต ฮัมฟรีย์

คำว่า SWOT เป็นการรวมกันของอักษรย่อภาษาอังกฤษ 4 ตัว ได้แก่

  • S  มาจาก Strengths หมายถึง จุดเด่นหรือจุดแข็งที่คุณมี เช่นทักษะความสามารถ เงินทุน สถานที่ เป็นต้น ซึ่งคุณจะต้องใช้ประโยชน์จากจุดแข็งเหล่านี้เป็นกลยุทธ์ในการเริ่มต้นของธุรกิจ
    –    คุณเก่งเรื่องอะไร?-    คุณมีอะไรบ้าง?-    อะไรคือข้อได้เปรียบที่คุณมีเหนือคู่แข่งของคุณ?
  • W  มาจาก Weaknesses หมายถึง จุดด้อยหรือจุดอ่อนของคุณ ซึ่งคุณจะต้องระวังและคอยแก้ไขให้ปัญหาหรือข้อบกพร่องที่อาจเกิดจากสิ่งเหล่านี้
    –    ข้อจำกัดด้านเงินทุน?-    คุณอยู่ใน location ที่ไม่ดีพอ?
  • O มาจาก Opportunities หมายถึง โอกาส ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก เป็นผลจากการที่สภาพแวดล้อมภายนอกเอื้อประโยชน์หรือส่งเสริมการทำงานของคุณ ซึ่งจะต่างจากจุดแข็งที่เกิดจากปัจจัยภายในหรือจากตัวคุณเอง นักธุรกิจที่ดีจะต้องมองหาหรือเสริมสร้างโอกาสอยู่เสมอ และหาทางใช้ประโยชน์จากมันให้ได้มากที่สุด-    คุณมองหาโอกาสในตลาดได้อย่างไรบ้าง?-    มีปัจจัยอะไรบ้างที่อาจสร้างโอกาสให้คุณได้?-    โอกาสที่คุณมองเห็นอยู่มันมีเวลาจำกัดแค่ไหน?
  • T  มาจาก Threats หมายถึง อุปสรรค ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก ถือเป็นข้อจำกัดในการทำธุรกิจของคุณ และจำเป็นจะต้องปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องเพื่อขจัดอุปสรรคที่มีออกไป-    ใครคือคู่แข่งตัวฉกาจของคุณ?-    ความเสี่ยงใดบ้างที่อยู่เหนือการควบคุมของคุณ?-    ปัจจัยเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค เศรษฐกิจ หรือนโยบายของรัฐบาลที่อาจลดยอดขายของคุณ?-    มีสินค้าและบริการใหม่ใดที่ทำให้ธุรกิจของคุณล้าสมัย?เมื่อคุณเริ่มทำธุรกิจ สิ่งที่คุณทำจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคุณอย่างแยกไม่ขาด เพราะฉะนั้นจงมั่นใจว่าคุณกำลังทำในสิ่งที่ต้องการและเป็นตัวเองที่สุด การใช้ SWOT Analysis ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณรู้ถึงความต้องการจากการทำธุรกิจเท่านั้น แต่จะรวมไปถึงความต้องการในชีวิตของคุณด้วย จงใช้ช่วงเวลาในตอนเริ่มต้นนี้อย่างมีค่าที่สุด ทำให้แน่ใจว่าธุรกิจที่คุณกำลังจะทำนั้นเหมาะสมกับคุณ

STEP 2  วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของคุณ

เมื่อคุณตัดสินใจที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจแล้ว ลองคิดต่อไปว่า ลูกค้าของสินค้าและบริการของคุณคือใคร? คู่แข่งของคุณคือใคร?
และในขั้นตอนนี้คุณก็มีความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเงินทุนที่คุณต้องการในการเริ่มทำธุรกิจที่คิดไว้ด้วย

การสำรวจตัวเองในขั้นที่แล้วอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้คุณรู้ถึงความพร้อมในสิ่งที่จะทำหรือที่คิดไว้ แต่บางอย่างก็อาจเปลี่ยนไปเมื่อคุณทำการสำรวจตลาดที่คุณต้องการทำธุรกิจ ด้วยวิธีการอย่าง ค้นหาข้อมูลเบื้องต้นจาก Google ,พบปะพูดคุยกับคนที่คุณจะทำธุรกิจด้วย ,หาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณมาอ่าน ,หรือถ้าเป็นไปได้ลองหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการลงคอร์สซัก 1
หรือ 2 คอร์ส

และถ้าคุณไม่มีเวลามากพอ ก็ยังมีหน่วยงานของรัฐบางแห่งที่ช่วยให้คำปรึกษาคุณได้ เช่น ศูนย์พัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจ ประจำท้องถิ่นที่อยู่ใกล้บ้าน เป็นต้น

อภิมหากาพย์_171207_0010

STEP 3  ทำการสำรวจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

คุณจำเป็นต้องสำรวจความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมไปถึงวิเคราะห์ตลาด ถึงแม้จะฟังดูซับซ้อน แต่มันจำเป็นมากครับ และมันก็ไม่ได้ยากอย่างที่คุณคิด

คุณสามารถทำการวิเคราะห์ตลาดและกลุ่มลูกค้าได้จากสิ่งเหล่านี้

  • ใครคือลูกค้าที่มีศักยภาพของคุณ?
  • พฤติกรรมการซื้อของพวกเขาเป็นอย่างไร?
  • พวกเขารีบร้อนแค่ไหนที่จะจ่ายให้กับสิ่งที่คุณกำลังเสนอขาย?
  • มีพวกเขาอยู่มากแค่ไหนข้างนอกนั่น?
  • พวกเขามีกำลังซื้อเท่าไหร่?
  • ใครคือคู่แข่งของคุณบ้าง?
  • ต้องใช้เวลาเท่าไหร่จึงจะเห็นผลตอบแทน? 1 เดือน? 1 ปี? หรือ 3 ปี?
  • คุณต้องควักกระเป๋าจ่ายล่วงหน้าเท่าไหร่?
  • ธุรกิจที่คุณทำเกี่ยวข้องกับช่วงเวลามากน้อยแค่ไหน? เช่น ขายเคสไอโฟน X  แล้วถ้ามีรุ่นใหม่ออกมาจะทำอย่างไรต่อ? คุณต้องวางแผนเผื่ออนาคตเอาไว้ด้วย

การวิเคราะห์นี้จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับธุรกิจของคุณได้ เพราะการที่คุณรู้จักกลุ่มเป้าหมายและเงื่อนไขของตลาดนั้น
จะทำให้คุณสร้างโอกาสที่ดีกว่าในการพัฒนาสินค้าและบริการของคุณ และทำให้คุณสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งของคุณได้

อภิมหากาพย์_171207_0007

STEP 4  เริ่มกระบวนการการวางแผน

“การจะไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้นั้นต้องมีการวางแผน มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า และอาศัยการลงมือทำอย่างสุดความสามารถ เพราะมันไม่มีทางลัดไปสู่ความสำเร็จ”– ปาโบล ปิกัสโซ

การวางแผนการทำงานจะทำให้คุณรู้ว่าคุณจำเป็นต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการเริ่มต้นทำธุรกิจ คุณต้องมีอะไรบ้างที่จะสามารถก่อให้เกิดผลกำไรได้ เปรียบเสมือนเป็นแผนที่ที่จะทำให้คุณร่างโครงสร้างและทำให้เห็นภาพชัดของสิ่งที่คุณจะต้องทำเพื่อไปให้ถึง
เป้าหมายที่ตั้งไว้

แผนการทางธุรกิจถือเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าหาผู้ลงทุนหรือธนาคาร เพื่อดึงดูดสมาชิกหรือเพื่อนร่วมงาน และใช้เป็นสิ่งแรกเริ่มในการวางกลยุทธ์ของคุณ ตลอดจนวิธีการดำเนินงาน หลักไมล์ในการทำงาน Deadline และการหมุนเงิน

ในความเป็นจริงแผนการทางธุรกิจไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นทางการมากนักถ้าคุณไม่ต้องโชว์ให้คนอื่นเห็น คุณทำมันขึ้นมาเพื่อให้ตัวคุณเองมองเห็นงานของคุณเป็นรูปเป็นร่างในภาพรวมเพื่อที่จะสามารถเอาไว้ตรวจสอบและแก้ไขหากพบว่ามีอะไรผิดพลาด

และแผนการทางธุรกิจโดยทั่วไปจะประกอบไปด้วย 7 ส่วนดังนี้

1. บทสรุปของผู้บริหารและเนื้อหาของแผนงาน(Executive Summary)

ซึ่งจะเป็นส่วนที่สรุปเนื้อหาสำคัญทั้งหมดของธุรกิจคุณ เสมือนใบเบิกทางและช่วยดึงความสนใจนายทุนทั้งหลาย ซึ่งควรจะประกอบไปด้วย

  • ปัญหา  ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดให้ชัดเจน, คุณจะเข้าไปแก้ไขอะไร, และบอกว่าธุรกิจของคุณจะส่งมอบคุณค่า (Value Proposition) อะไรให้กับลูกค้า เช่น การเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นต้น
  • วิธีแก้ไข  คุณกำลังแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หรือจับโอกาสนี้อย่างไร
  • โมเดลธุรกิจ  ใครจะเป็นลูกค้าของคุณ และคุณจะทำเงินได้อย่างไร
  • ความพิเศษของธุรกิจ  อะไรที่ทำให้บริษัทของคุณดูพิเศษกว่าของคนอื่น
  • กลยุทธ์การตลาดและการขาย   กลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดของคุณเป็นอย่างไร
  • การแข่งขัน  คุณกำลังแข่งขันกับใคร? อะไรที่คุณทำได้แต่พวกเขาทำไม่ได้?
  • แผนงานต่างๆ  แผนการเงินในสามปีข้างหน้าเป็นอย่างไร สมมติฐานและตัวชี้วัดที่จะทำให้ถึงเป้าหมายเหล่านั้นได้อย่างไร
  • ทีมงาน  ทีมงานของคุณมีใครบ้าง พวกเขามีจุดเด่นด้านใด พิเศษอย่างไร
  • สถานะและระยะเวลา  สถานะของโครงการของคุณอยู่ที่ตรงไหนแล้ว และใกล้ถึงเป้าหมายแล้วหรือยัง?

2. กลุ่มเป้าหมาย  (Target Market)

การกำหนดกลุ่มเป้าหมายถือเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการประกอบธุรกิจ การทำการตลาดที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายจะส่งผลดีต่อยอดขายและผลกำไรในอนาคต และมีวิธีการง่ายๆ ดังนี้

  • อย่าพยายามทำทุกอย่างให้ถูกใจทุกคน  กลยุทธ์อยู่ที่การโฟกัสให้ถูกต้อง หากคุณทำธุรกิจร้านอาหารลองพิจารณาตัวเลือก 3 ข้อต่อจากนี้1.   เอาใจกลุ่มลูกค้าอายุ 40 – 75 ปี ที่มีกำลังจ่าย ใส่ใจที่สุขภาพมากกว่าอาหารราคาถูก ชอบอาหารทะเล และจำพวกสัตว์ปีก และบรรยากาศของร้านที่เงียบสงบ2.   เอาใจกลุ่มลูกค้าอายุ 15 – 30 ปี ที่มีกำลังทรัพย์จำกัด ชอบรับประทานอาหารราคาถูกจำพวก Fast Food และบรรยากาศร้านที่เสียงดังครึกครื้น3.   เอาใจลูกค้าทุกประเภทผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณจะเลือกไม่ข้อ 1 ก็ข้อ 2 และรีบตัดข้อ 3 ทิ้งโดยทันที เพราะหัวใจหลักของการกำหนดกลุ่มเป้าหมายก็คือ การเลือกกลุ่มคนที่ต้องการ และ ทำให้ได้ออกมาดีที่สุด
  • รู้จักการแบ่งส่วนการตลาด สืบเนื่องจากข้อที่แล้ว คือ กระบวนการในการแบ่งหรือแยกลูกค้าออกเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อให้ลูกค้าที่มีลักษณะความต้องการคล้ายคลึงกันมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานทางการตลาดและจัดสรรงบประมาณในการเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ซึ่งมีความต้องการแตกต่างกัน
  • แบ่งส่วนอย่างสร้างสรรค์ นอกจากการแบ่งตามอายุ เพศ และระดับทางเศรษฐกิจแล้ว คุณยังสามารถแบ่งกลุ่มลูกค้าตามการใช้งานสินค้าได้อีกเช่น บ้าน โรงเรียน ธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดใหญ่ องค์กรของภาครัฐ เป็นต้น
  • พิจารณาเอกลักษณ์ของธุรกิจของคุณ เพราะมันจะสะท้อนความเป็นตัวตนของคุณออกไป ในแบบที่คุณสามารถทำหรือเป็นได้ดีที่สุด การทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายที่คล้ายคลึงกับตัวคุณถือเป็นข้อได้เปรียบ เช่น ถ้าคุณชอบความรู้สึกของธุรกิจขนาดเล็กก็จงนำเสนอธุรกิจขนาดเล็กไปสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
  • ใช้กลยุทธ์หาจุดร่วมกันของลูกค้า เช่นกำหนดกลุ่มลูกค้าที่ต่างกันมา 3 ถึง 4 กลุ่ม แล้วมองหาจุดร่วมกันของกลุ่มทั้งหมดนั้น จากนั้นใช้มันเป็นจุดขายของธุรกิจคุณที่สามารถกระจายเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนที่กว้างขึ้นได้นั่นเอง

3.สินค้าและบริการ (Products and Services)

การกำหนดราคาของสินค้าและบริการของคุณอย่างเหมาะสมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการดึงความสนใจของบรรดาลูกค้า คุณจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเรื่องจิตวิทยาของการตั้งราคา ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จและล้มเหลวในการเริ่มทำธุรกิจ คุณอาจใช้วิธีการต่อไปนี้ในการกำหนดราคาของสินค้าและบริการของคุณ

  • การตั้งราคาแบบเจาะตลาด (Penetration Pricing) หมายถึง การตั้งราคาสินค้าให้ต่ำกว่าราคาปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่เริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ โดยมีจุดประสงค์ดังนี้- ดึงดูดความสนใจและเชื้อเชิญให้สามารถซื้อมาทดลองใช้ได้
    – การขายราคาต่ำช่วยเพิ่มปริมาณการขาย ทำให้สามารถผลิตได้ ณ ระดับการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดต่ำลง
    – เมื่อมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง
    – ใช้กับสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ
    – เป็นตลาดของผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย
  • การตั้งราคาเพื่อขจัดคู่แข่งขัน (Predatory Pricing) เป็นการลดราคาสินค้าและบริการของตัวเองในช่วงแรกเพื่อเป็นการกำจัดคู่แข่งออกจากธุรกิจ และข่มขู่ผู้ที่มาใหม่ให้ไม่กล้าเข้ามาสู้ได้ แล้วค่อยขยับราคาขึ้นหลังจากนั้น โดยทั่วไปกลยุทธ์นี้จะต้องตั้งราคาให้ต่ำกว่าทุน ซึ่งนั่นหมายความว่าจะต้องยอมขาดทุนในช่วงแรก เพื่อหวังผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาว จึงเหมาะกับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และมีเงินทุนสูง
  • การตั้งราคาแบบหลอกล่อ (Decoy Pricing) คือการตั้งราคาที่ธรรมดาๆ ไม่น่าสนใจอะไรขึ้นมาก่อน เพื่อนำไปสู่การยื่นข้อเสนอที่ดีกว่าต่อไป โดยส่วนใหญ่ก็จะตั้งราคาไว้ 3 ระดับ คือถูกสุดไปถึงแพงสุด แลกกับสิ่งที่จะได้รับที่เพิ่มขึ้น
    ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะเลือกอันที่ราคาสูงที่สุดเพราะรู้สึกว่าคุ้มค่ากว่าอันอื่นแม้จะต้องเพิ่มเงินอีกนิดหน่อย แต่ถ้ามีแค่ 2 ราคา คนก็มีโอกาสสูงที่จะเลือกอันที่ถูกกว่า เพราะฉะนั้น
    กลยุทธ์นี้จึงเน้นไปที่การนำเสนอตัวเลือกให้ลูกค้าได้เปรียบเทียบกันถึงความคุ้มค่าที่จะได้รับนั่นเอง
  • การตั้งราคาสูง (Premium Pricing) ซึ่งหมายถึง ราคาที่สูง ราคาส่วนเพิ่ม ซึ่งมักจะถูกใช้เพื่อสะท้อน ภาพลักษณ์ของสินค้า (Branding) เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าสินค้าทุกชนิดจะสามารถตั้งราคาแพง ๆ ได้ตามอำเภอใจ ยังมีปัจจัยเหล่านี้ที่ต้องพิจารณาก่อนการตั้งราคาสินค้าทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งทางการตลาด สินค้าทดแทน การเข้าถึงของคู่แข่งใหม่ และผลกำไรสูงสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) ได้ทำการศึกษาข้อมูลที่น่าสนใจว่า ธุรกิจที่ทำสินค้าเฉพาะเจาะจง และตั้งราคาสูง มักเลือกที่จะไม่ขยายธุรกิจเป็นวงกว้างจนเกินไป แต่เลือกที่จะมุ่งเน้นความเป็นเอกลักษณ์ของธุรกิจ เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ที่เหนือกว่าสินค้าทั่วไปในตลาด และการที่สินค้านั้นมีราคาสูงย่อมแสดงสถานะทางสังคมได้ อีกทั้งจะยิ่งดึงดูดให้เกิดความต้องการที่จะครอบครองสินค้านั้นในหมู่ผู้บริโภคอีกด้วย
  • การตั้งราคาตามหลักจิตวิทยา (Psychological pricing) เป็นวิธีการตั้งราคาที่คำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้ซื้อในรูปแบบต่างๆกัน เช่น-การตั้งราคาตามความเคยชิน เป็นการตั้งราคาไว้ในระดับราคาที่ผู้บริโภคคุ้นเคย เช่น ขนมห่อละ
    5 บาท หนังสือพิมพ์ฉบับละ8 บาท น้ำอัดลมกระป๋องละ 13 บาท เป็นต้น
    -การตั้งราคาเลขคี่และเลขคู่ การตั้งราคาเลขคี่จะนิยมใช้กับสินค้าหรือบริการที่ต้องการให้ผู้บริโภครู้สึกว่ามีราคาถูก เช่น 99 บาท 199 บาท  ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อที่มากกว่า ส่วนการตั้งราคาเลขคู่ หรือจำนวนเต็ม มักใช้กับสินค้าที่มีชื่อเสียง คุณภาพดีหรือสินค้าที่ผู้บริโภครู้จักน้อย
    -การตั้งราคาสินค้าที่มีชื่อเสียง สำหรับสินค้าหรือบริการที่มีชื่อเสียง นิยมใช้การตั้งราคาสินค้าที่ค่อนข้างสูงเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูแพงให้กับสินค้า
  • การตั้งราคาแบบประเมินคุณค่า (Value-based Pricing) เป็นการกำหนดราคาโดยใช้คุณค่าของสินค้าและบริการที่รับรู้จากมุมมองของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริง แต่ดูถึงความเต็มใจที่จะจ่ายของผู้ซื้อที่ยอมจ่ายเพื่อแลกกับคุณค่าที่ได้รับจากสินค้าหรือบริการ โดยผู้ขายสามารถชาร์จราคาเพิ่มจากความแตกต่างของสินค้าหรือบริการที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับผู้บริโภคแบบเหนือกว่าคู่แข่งได้
  • การเป็นผู้นําด้านราคา (Price Leadership) เป็นผู้นำด้านต้นทุน โดยสามารถกำหนดราคาได้ต่ำกว่าตลาด ใช้กับตลาดขนาดใหญ่ จำพวกห้างค้าปลีกอย่าง เทสโก้ โลตัส เป็นต้น

4.แผนการตลาดและการขาย

การตลาดเป็นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ จงอย่าลืมที่จะวางแผนการตลาดให้อยู่ในส่วนสำคัญของกระบวนการการวางแผนทั้งหมดของคุณ เพราะถ้าการตลาดเปรียบเสมือนตัวขับเคลื่อนของธุรกิจ แผนการตลาดก็เป็นดั่ง GPS ที่คอยนำทางให้คุณไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้ โดยจัดลำดับความสำคัญเริ่มต้นด้วยเรื่องพื้นฐานที่สุด

  • บริษัทของคุณคือ? เริ่มต้นด้วยการตรวจสอบเพื่อทำความเข้าใจในตัวตนของคุณให้ได้มากที่สุด ก่อนการเตรียมแผนการตลาด ให้คุณพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานเพื่อทำความเข้าใจในมุมมองของธุรกิจที่กำลังทำร่วมกัน รวมไปถึง
    • ตรวจสอบรายงานทางด้านการเงิน บัญชีรายรับรายจ่าย
    • สรุป list รายการของสินค้าและบริการที่คุณนำเสนอสู่ตลาด
    • ตรวจสอบรายการขายและข้อมูลที่ยังใช้การได้ของลูกค้า
    • พูดคุยกับผู้จัดการและผู้ร่วมงาน ถกประเด็นปัญหาถึงจุดแข็งและจุดอ่อนที่สามารถปรับปรุงได้
    • ทบทวนประวัติความเป็นมาของสถานการณ์ในตลาดของคุณตั้งเริ่มต้น
    • สัมภาษณ์ทีมขายเพื่อสืบให้รู้ถึงสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจของคุณขายได้และขายไม่ได้
    • ประเมินสินค้าและบริการว่ามีชิ้นใดบ้างหรือไม่ที่ล้าสมัยไปแล้ว
    • มองธุรกิจของคุณในแบบภาพพาโนรามา!
  • ทำความเข้าใจคู่แข่ง ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขา อะไรคือสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการที่พวกเขานำเสนอ ข้อได้เปรียบที่คุณมีเหนือพวกเขาคืออะไร และอะไรที่พวกเขามีเหนือคุณ เขาสร้างแบรนด์ขึ้นมาได้อย่างไร
  • ศึกษาข้อมูลกลุ่มเป้าหมายหลักและเป้าหมายรอง ความผิดพลาดเพียงหนึ่งครั้งที่บริษัทได้ทำลงไป ทำให้คุณสามารถคาดการณ์และปรับปรุงสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ ปรึกษาหารือกับเซลส์ของคุณถึงธุรกิจของคุณและของคู่แข่ง เพื่อหาคำตอบว่าใครคือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจริงๆของสินค้าและบริการของคุณ
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้กลุ่มลูกค้านั้นขยายออกไปกว้างกว่าแต่เดิม หลังจากการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟน ทำให้คุณสามารถเล็งเห็นกลุ่มลูกค้าอื่นที่รองลงไปจากกลุ่มลูกค้าหลักของคุณได้
  • ใช้โมเดล SWOT Analysis ในการวิเคราะห์องค์กรของคุณเหมือนอย่างที่คุณเคยใช้กับตัวเองตั้งแต่เมื่อตอนเริ่มต้น
    ที่คิดจะทำธุรกิจ
  • เซ็ต Goal บริษัทที่ไม่มีเป้าหมายก็ไม่ต่างจากการเดินเรือที่ไม่มีเข็มทิศนำทาง และไม่ใช่แค่คุณจำเป็นจะต้องเซ็ต Goal ขึ้นมา แต่ให้คุณเขียนมันลงไปเลยและทำมันให้ได้ Goal ของคุณจะนำไปสู่กลยุทธ์ทางการตลาดที่ถูกที่ควรกับธุรกิจของคุณ
  • พัฒนากลยุทธ์ เมื่อมาถึงตอนนี้ก็ถึงเวลาที่คุณจะต้องวางเค้าโครงของกลยุทธ์และ tactic ให้เป็นรูปเป็นร่าง และค่อยๆเจาะจง ตบให้เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น ในทุกๆธุรกิจต้องใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกัน เพราะไม่มีธุรกิจใดในโลกที่จะเหมือนกันทุกประการ และกลยุทธ์ที่คุณเลือกใช้ต้องประกอบขึ้นจากข้อมูลทั้งหมดในข้อก่อนหน้านี้รวมกัน

อภิมหากาพย์_171207_0005

5.ภาพรวมขององค์กร

  • วิสัยทัศน์และภารกิจ
  • ลักษณะของธุรกิจ
  • โครงสร้างขององค์กร
  • เป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ

การระบุภาพรวมขององค์กรของคุณในหัวข้อทั้ง 4 ข้างบนนั้น จะทำให้คุณและผู้ร่วมงานทั้งหมดมีทิศทางในการทำงานที่ตรงกัน ทำให้สามารถประคับประคองธุรกิจไปในทางเดียวกัน และเมื่อเกิดปัญหาก็สามารถกลับมาทบทวนถึงจุดมุ่งหมายที่วางไว้ตั้งแต่เริ่มได้

6.การจัดทำแผนการเงิน

การเขียนแผนทางการเงิน เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในแผนธุรกิจ เพราะการเขียนแผนธุรกิจทุกประเภทจำเป็นจะต้องมีการระบุผลกำไร  ยอดรายได้  ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อที่สุดท้ายมันจะสามารถบอกเราได้ว่าควรทำธุรกิจนี้หรือไม่  ซึ่งโดยปกติแล้วการเขียนแผนทางการเงิน ประกอบด้วย งบกำไรขาดทุน  งบดุล  และ งบกระแสเงินสด

ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการทำธุรกิจของคุณ และการทำงานเริ่มต้นธุรกิจ จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นประกอบไปด้วย

  • ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนธุรกิจ
  • การขอออกใบอนุญาต หรือ ใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจเฉพาะ
  • เริ่มต้นสินค้าคงคลัง
  • เงินมัดจำค่าเช่าพื้นที่สำนักงานของตน
  • การวางเงินดาวน์ ในการซื้ออาคารสถานที่ประกอบธุรกิจ
  • การลงทุนในอุปกรณ์ เครื่องใช้ในการดำเนินธุรกิจ
  • ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นการดำเนินงานในส่วนของค่าใช้จ่ายของการจัดตั้งและดำเนินธุรกิจของคุณ  การคิดสิ่งที่คุณกำลังดำเนินการต้องจ่ายในแต่ละเดือน อาจรวมถึงสิ่งเหล่านี้

  • เงินเดือน (เงินเดือนของคุณเอง และเงินเดือนพนักงาน)
  • ค่าใช้จ่ายด้านค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าสาธารณูปโภค
  • ค่าโทรศัพท์ และ อินเตอร์เน็ต
  • ค่าสั่งซื้อวัสดุสิ้นเปลืองในสำนักงาน
  • ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด และการส่งเสริมการจำหน่าย
  • ค่าใช้จ่ายในการชำระคืนเงินกู้
  • ค่าสั่งซื้ออุปกรณ์สำนักงาน
  • ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอุปกรณ์สำนักงาน

สิ่งเหล่านี้เป็นรายการบางส่วนที่คุณ จะต้องจ่ายเป็นรายเดือนเพื่อใช้ดำเนินงานประกอบธุรกิจ  ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของคุณจะแสดงให้คุณเห็นค่าใช้จ่ายที่จะทำให้เงินสดของคุณในแต่ละเดือนที่คุณจำเป็นจะต้องเตรียมสำรองไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนทุกครั้ง และคุณจำเป็นจะต้องคิดรายการค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจะต้องจ่ายรายเดือนออกมาให้มากที่สุด

นอกจากนี้คุณจำเป็นจะต้องมีการวางแผนค่าใช้จ่ายประจำเดือนนี้ล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน และจัดทำ Cash Flow Projection หรือ งบประมาณเงินสดล่วงหน้า 6 เดือน เพื่อที่จะได้ทราบว่าเดือนใดบ้างที่บริษัท หรือ องค์กร ขาดเงินสด หรือ ติดลบ และมียอดเงินสดติดลบอยู่เท่าใด  จะหาเงินส่วนที่ขาดจากที่ใด

7.ภาคผนวก

ภาคผนวกถือเป็นส่วนสุดท้ายของกระบวนการการจัดทำแผน ซึ่งจะประกอบไปด้วย

  • ชาร์ต กราฟ หรือตาราง สำหรับข้อมูลเสริมที่มาจากส่วนอื่นๆของธุรกิจของคุณ
  • ความคิดเห็น ข้อติชมจากบรรดาลูกค้าของคุณ
  • ใบอนุญาต สิทธิบัตร หรือ เอกสารการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
  • ภาพตัวอย่างของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์
  • เรซูเม่หรือประวัติของพนักงานในองค์กร
  • ข้อมูลของผู้ติดต่อต่างๆ

STEP 5  มองหาแหล่งเงินทุน

Angel Investor

การเริ่มต้นทำธุรกิจของคุณบางทีอาจจะต้องมองหาผู้ช่วย เพราะธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่ก็จะมีเงินทุนที่ได้มาจากการกู้ยืม สินเชื่อ จากเพื่อนหรือคนในครอบครัว หรือนักลงทุนใจดีแบบสวรรค์ส่งมาที่เรียกกันว่า Angel Investor

ที่เราเรียกกันว่า Angel หรือ เทวดานางฟ้า ก็เพราะว่านักลงทุนเหล่านี้จะเข้ามาช่วยธุรกิจที่เพิ่งเปิดใหม่ โดยเล็งเห็นถึงคุณค่าและความสำเร็จที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นในลักษณะของตัวบุคคล ไม่ใช่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ และในปัจจุบันเหล่านักธุรกิจหน้าใหม่ที่นำเสนอไอเดียและคุณค่าที่น่าพึงพอใจก็มักจะดึงดูด Angel Investor ให้เข้ามาลงทุนกันอย่างมากมาย

Angel Investor ส่วนใหญ่นอกจากจะมีเงินแล้ว ยังเป็นบุคคลที่ชอบช่วยเหลือคน ชอบให้โอกาสคน และมองโลกในแง่ดี ไม่อย่างนั้นคงไม่หยิบยื่นเงินให้กับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มแบบนี้ แต่ธุรกิจก็คือธุรกิจ การเข้ามาลงทุนตรงนี้ของ Angel Investor ก็ย่อมได้ผลประโยชน์กลับไปด้วยเช่นกันหากเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วธุรกิจที่ลงทุนไปนั้นประสบความสำเร็จ ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เพราะฉะนั้นผู้ที่เริ่มทำธุรกิจอาจจะลองมองหาแหล่งเงินทุนในลักษณะนี้ดูบ้างก็ได้ครับ

ธุรกิจเงินร่วมลงทุน  

ธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) นั้นถือเป็นแหล่งเงินทุนอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับคนยุคใหม่ ที่สามารถช่วยสนับสนุนทางด้านการเงินให้แก่ธุรกิจได้ นอกเหนือจากสถาบันการเงินอย่าง เช่น ธนาคาร  โดยเฉพาะนักธุรกิจหน้าใหม่หรือเหล่าบรรดา Startup ที่ในระยะหลังมานี้กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น และดูมีศักยภาพในการเติบโตสูง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการส่งเสริมและให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจที่ร่วมลงทุนสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว จะมีกำหนดระยะเวลาของการลงทุนที่แน่นอนในลักษณะกองทุนระยะยาว 3-5 ปี และนานสุดไม่เกิน 10 ปี เพราะในท้ายที่สุด VC ก็ต้องหาทางออกหรือถอนตัว (Exit) จากธุรกิจ ตามแนวทางหลักๆ คือ การนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเสนอขายหุ้น IPO  ซึ่งเป็นวิธีที่ VC ให้ความสนใจและถือเป็นจุดประสงค์สูงสุด หรือการขายหุ้นบริษัทโดยตรงให้กับผู้อื่น ซึ่งอาจจะไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก และสุดท้ายคือการขายหุ้นคืนให้กับบริษัทที่เข้าไปร่วมลงทุน

ข้อสำคัญอีกอย่างสำหรับการหาเงินมาลงทุนจากความช่วยเหลือของผู้อื่นก็คือ คุณจะต้องบอกให้ได้ว่าทำไมพวกเขาต้องให้เงินคุณ พวกเขาไม่อ่านแผนงานทั้งหมดของคุณทุกตัวอักษรหรอกครับ ถึงแม้พวกเขาก็อยากให้คุณมีแผนที่ละเอียดอยู่ดี แต่สิ่งที่พวกเขาอยากจะรู้จากคุณที่สุดก็คือ อะไรที่ทำให้คุณมั่นใจว่าธุรกิจของคุณจะสร้างผลกำไรได้มากกว่า

อภิมหากาพย์_171207_0008

STEP 6  มองหา Location

เอาล่ะครับ มาถึงตอนนี้ แผนการทำธุรกิจของคุณเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เงินทุนก็เริ่มมีเค้าลางให้เห็น ถึงเวลาเดินหน้าต่ออีกขั้น

ถ้าธุรกิจของคุณเป็นแบบออนไลน์ที่ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน คุณอาจจะต้องมองหาวิธีการสร้างเว็บไซต์หรือคิดหาช่องทางวิธีการในการซื้อขายของธุรกิจของคุณ อาจเป็นการทำงานจากที่บ้านตัวเองหรือหา co-working space แทนการเช่าหรือซื้อออฟฟิศ
แต่ถ้าธุรกิจของคุณต้องการหน้าร้านที่เป็นหลักเป็นแหล่ง ก็มีหลายปัจจัยในการพิจารณาเพื่อให้ได้มา

จงคิดพิจารณาในถ้วนถี่เพราะทำเลที่ตั้งของร้านจะเป็นเสมือนการกำหนดประเภทของลูกค้าที่เข้ามาหาคุณ ถึงแม้ว่าทำเลที่ดีไม่ได้จะรับประการว่าธุรกิจของคุณจะไปได้สวย แต่ทำเลที่แย่นั้นยังไงก็ไม่ดีหรอกจริงมั้ยครับ

ปัจจัยที่คุณควรตะหนักถึงในการมองหาทำเลที่ตั้ง (หลังจากคิดเรื่องจังหวัดหรือเมืองแล้ว) มีดังนี้

  • ราคา คุณมีกำลังพอจ่ายในสถานที่ที่คุณต้องการจริงๆ?
  • ง่ายต่อการมองเห็น ผู้คนสามารถมองเห็นร้านของคุณได้ไม่ยาก? ร้านจะตั้งอยู่ในศูนย์กลางในแหล่งชุมชนที่มีคนพลุกพล่าน?
  • มีที่จอดรถหรือมีระบบขนส่งมวลชนที่สะดวก คนที่จะมาร้านของคุณสามารถหาที่จอดรถได้ง่าย หรือสามารถเดินทาง
    มาด้วยวิธีต่างๆได้อย่างสะดวกสบาย? เพราะการเดินทางที่ลำบากเกินไปผู้คนส่วนมากจะเลือกที่จะไปที่อื่นที่ง่ายกว่าเสมอ สมัยนี้ที่จอดรถมีค่าดั่งทองคำคุณก็รู้
  • มีคู่แข่งทางการค้าอยู่ในบริเวณนั้น หากในละแวกนั้นมีคู่แข่งของคุณอยู่ พวกเขามีข้อได้เปรียบอะไรมากกว่าคุณหรือเปล่า ถ้าทุกอย่างดีกว่าคุณแล้วคุณยังฝืนที่จะเปิดร้านตรงนั้นให้ได้ นั่นแปลว่าคุณไม่ได้ใช้การตลาดอะไรเลยในธุรกิจนี้
  • กฎข้อห้ามหรือระเบียบของพื้นที่ อย่าลืมที่จะศึกษาว่าพื้นที่ตรงนั้นมีกฎระเบียบใดที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดมากกว่าที่อื่นหรือเปล่า ทำให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้กำลังทำผิดกฎหมายหรือข้อบังคับใด มิเช่นนั้นธุรกิจใหม่แกะกล่องของคุณคงจะต้องเดือดร้อนตั้งแต่เริ่มอย่างแน่นอน

รวมไปถึงการจัดตกแต่งร้านของคุณให้สวยงามน่าดึงดูดให้คนเข้าร้าน การวางสินค้า การจัดลำดับความสำคัญภายในร้านก็เป็น
รายละเอียดสำคัญที่ส่งผลต่อการซื้อของบรรดาลูกค้าด้วยเช่นกัน

 

อภิมหากาพย์_171207_0006

STEP 7  เริ่มกระบวนการการขายและมองหาข้อผิดพลาด

ไม่ว่านี่จะเป็นธุรกิจแรกหรืออาจจะเป็นธุรกิจที่สิบของคุณแล้วก็ตาม อย่าลืมที่จะคาดหวังและเตรียมพร้อมรับมือกับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้มีประโยชน์เสมอตราบใดที่คุณยังเรียนรู้จากมัน ถ้าคุณไม่เคยผิดพลาดอะไรเลยคุณก็จะไม่ได้รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ เพราะฉะนั้นจงเปิดใจให้กว้าง มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักการประยุกต์ใช้ มองหาโอกาสใหม่ๆอยู่เสมอ และที่สำคัญที่สุดคือทำทุกอย่างทั้งหมดนี้ด้วยความรักและสนุกกับมัน

เพราะสิ่งที่ดีที่สุดที่ทำให้คุณอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ก็คือการที่คุณสามารถได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการมากที่สุด และสิ่งนั้นได้มาถึงแล้ว เอาเลยครับ ลุยให้เต็มที่!

อภิมหากาพย์_171207_0009

 

Credit : articles.bplans. com ,eiamsri.wordpress. com  , entrepreneur. com , hubspot. com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *